ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว หรือหยุดยาว หลายคนก็มักจะขับรถไปเที่ยวตามป่าเขา โดยปัญหาที่พบมากที่สุดที่เป็นข่าวก็คือการขับรถขึ้นเขาที่มีความชันสูงแล้วเครื่องพัง ไปต่อไม่ได้ ที่เห็นบ่อยๆ เช่น เขาค้อ ภูทับเบิก เพชรบูรณ์, ดอยอ่างขาง เชียงใหม่ หรือต้องเผชิญกับทางเลี้ยวโค้งอันมากมายแถมโค้งหักศอก หรือโค้งตัวยูหลายจุด เช่น อุ้มผาง ตาก, ปาย แม่ฮ่องสอน ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นเราจึงควรรู้เทคนิคการขับรถขึ้นลงเขา ทั้งความชันปกติและที่มีความชันสูง รวมถึงเทคนิคการเลี้ยวโค้ง เพื่อให้การเดินทางของเราปลอดภัยและไม่สะดุด
การขับรถขึ้นเขา ขึ้นลงทางชัน
1. ขึ้นเขาควรใช้เกียร์ต่ำ
ทางขึ้นเขาที่มีความชันมากๆ หลายๆ จุด อย่างเช่นเขาค้อ ควรใช้เกียร์ต่ำเสมอ รถเกียร์ออโต้ไม่ควรใช้เกียร์ D ปกติแล้วเหยียบจนมิดจะทำให้เครื่องยนต์ไม่มีแรง ดับและพังได้ ยกเว้นทางขึ้นเขาที่ไม่ชัน เตี้ยๆ สามารถใช้เกียร์ D ปกติได้ ส่วนรถเกียร์ธรรมดา ควรใช้เกียร์ 1 หรือใช้เกียร์ 2 ได้หากทางไม่ชันมาก ทั้งนี้ดูจากสถานการณ์ระดับความเร็วที่วิ่งอยู่ว่าเกียร์ 2 ยังไหวก็สามารถใช้ต่อไปได้
หากเจอรถติดหรือต้องหยุดนิ่ง ต้องออกตัวด้วยเกียร์ต่ำเท่านั้น รถออโต้ห้ามใช้เกียร์ D ไม่งั้นเครื่องจะพังได้หากทำบ่อยๆ เนื่องจากแรงไม่เพียงพอ
ควรใช้จังหวะส่งรถด้วยเพื่อถนอมเครื่องยนต์ เช่น เมื่อมีจังหวะไหลลงเขาและมีทางชันขึ้นต่อ หากทางข้างหน้าเป็นทางตรง และรถไม่ได้ติดหรือกระชั้นชิดกัน ก็ควรปล่อยไหลให้รถมีแรงส่งจากทางลาดลง เพื่อขึ้นทางชันได้โดยไม่ต้องเร่งเครื่องมาก ทั้งนี้เพราะบางคนชินกับการเบรกเมื่อเจอทางลง แม้ข้างหน้าจะไม่มีรถขวางหรือทางโค้งก็ตาม กลายเป็นว่าพอถึงทางชันขึ้นต้องเร่งเครื่องหนัก จึงต้องคอยดูจังหวะรถไหลต่อเนื่องด้วยเพื่อช่วยเครื่องยนต์ไม่ให้ทำงานหนักด้วย
2. เร่งเครื่องอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อต้องเร่งเครื่องขึ้นเขาทางชัน ต้องเร่งเครื่องอย่างสม่ำเสมอ ต้องทำให้รถมีกำลังอย่างต่อเนื่องและในระดับที่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้รถเสียกำลังในการใช้แรงขึ้น
3. ลงเขาก็ควรใช้เกียร์ต่ำ
การใช้เกียร์ต่ำเมื่อลงเขา ไม่ใช่เพื่อต้องการแรงเหมือนขาขึ้น แต่เพื่อแรงฉุด แรงหน่วงให้รถวิ่งช้าลง ห้ามปล่อยไหลใช้เกียร์ว่างหรือเกียร์ N โดยเด็ดขาด
4. แตะเบรกเป็นระยะ อย่าแตะแช่ยาว เบรกจะไหม้ได้
เมื่อเวลาลงเขา หลายคนเจอปัญหาเบรกไหม้ เพราะแตะเบรกแช่ยาว เข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องเบรกชะลอความเร็วรถขณะลงเขา แต่เราจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคการแตะเบรกเพื่อไม่ให้เบรกไหม้ ไม่งั้นล่ะก็จะกลายเป็นเบรกแตกหยุดไม่ได้แทน ด้วยการใช้เกียร์ต่ำ หากความเร็วไม่มากก็ไม่ต้องแตะเบรก แต่หากรู้สึกว่ายังเร็วอยู่ให้ค่อยๆ แตะเบรกเป็นระยะ ไม่แช่ยาว ไม่เหยียบแรงให้รถชะงัก
ส่วนมากสถานที่เที่ยวขึ้นเขา มักจะมีจุดที่พักรถระหว่างทาง หากได้กลิ่นเบรกไหม้ หรือรถอาการเริ่มแปลกๆ สั่น หรือ Overheat ควรแวะจอดพักเครื่องยนต์ก่อน หากฝืนไปต่อเครื่องจะพังได้
การเลี้ยวโค้ง ระหว่างทางขึ้นลงเขา
1. ขาขึ้น ไม่ขับเร็ว ถ้าเจอทางชันมากๆ ความเร็วมักจะช้าอยู่แล้ว การเลี้ยวโค้งก็จะเป็นปกติไม่ลำบากมากนัก คอยระวังมุมอับ หรือ พยายามชิดซ้ายเพื่อระวังรถสวนในเลนขาลงมา พยามยามอยู่ในเลนของตัวเองไว้ หากคนขับรถทั้งสองฝั่งขับรถให้อยู่ในเลนของตัวเองไว้ ก็จะไม่มีการเฉี่ยวชนกันแน่นอน
2. ขาลง การเลี้ยวโค้งในขาลงต้องระมัดระวังให้มากๆ ใช้ความเร็วต่ำ ควบคู่ไปกับการใช้เกียร์ต่ำและแตะเบรกเป็นระยะ และใช้หลักการเบรกทางโค้ง คือ ต้องแตะเบรกก่อนถึงทางโค้ง ห้ามวิ่งมาแล้วไม่เบรกเลยแต่มาแตะเบรกเมื่อเลี้ยวโค้งไปแล้ว จะทำให้ท้ายรถสะบัดเสียหลักได้ ซึ่งอันตรายมากๆ
โค้งหักศอก ให้ลดความเร็ว และค่อยๆ เลี้ยว ไม่หักพวงมาลัยกระทันหัน ถ้าเลี้ยวขวาควรอยู่เลนซ้ายเพื่อให้มีพื้นที่และวงการเลี้ยวได้กว้างขึ้น กลับกันหากเลี้ยวซ้ายก็ควรอยู่เลนขวา
โค้งตัวยู ทำเหมือนโค้งหักศอก เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น อย่าประมาท เวลาเลี้ยวโค้งอย่าปล่อยเกียร์ว่าง ต้องมีการเข้าเกียร์วิ่งอยู่เสมอ และแตะเบรกระหว่างเลี้ยวหากรู้สึกรถวิ่งเร็วเกินไป
การขับรถเมื่อเจอทางโค้งเยอะแบบนี้ ควรมองไปไกลๆ เพื่อคาดการณ์ทางโค้งข้างหน้าว่าเป็นลักษณะใด จะได้เตรียมรับมือถูก โดยอาจใช้แผนที่ GPS ดูเส้นทางล่วงหน้าเอาไว้ได้ว่าต่อไปจะเจอโค้งแบบใด
นอกจากเทคนิคขับขึ้นลงเขาและการเลี้ยวทางโค้งแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติร่วมด้วย เช่น ควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าให้มาก แต่หากเว้นระยะยาวเกินไป หรือเราขับช้าเกินไป ก็ควรชิดซ้ายให้คันหลังแซงไปในจังหวะที่ทำได้
อย่าขับเร็ว ใครรีบให้เราชิดซ้ายปล่อยเขาไปก่อน และห้ามแซงโดยเด็ดขาด มีข่าวอุบัติเหตุจากการแซงเมื่อขึ้นเขามามากแล้ว หากแซงตอนทางชันก็ไม่เป็นการถนอมเครื่องยนต์เลย และแซงทางโค้งยิ่งอันตรายสุดๆ
เมื่อต้องขับรถขึ้นลงเขา อย่าลืมทำประกันรถคุ้มครองเอาไว้ ดูข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่ ประกันรถยนต์ และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน Line Official Account : @SompoThailand พร้อมอัพเดทข่าวสาร พร้อมเนื้อหาสาระมากมาย สามารถติดตามต่อได้ที่ Facebook : SompoThailand ซมโปะ ประกันภัย หรือโทร 021193000
Copyright © 2020 Sompo Insurance (Thailand) Public Company Limited. All Rights Reserved.