Sompo

Innovation for Wellbeing

Home» เกี่ยวกับเรา» ข่าวสารอัพเดท» ซมโปะ เปิดตัวประกันภัยอ้อยจากภัยแล้ง เจ้าแรกของไทย

ซมโปะ เปิดตัวประกันภัยอ้อยจากภัยแล้ง เจ้าแรกของไทย

17 มิ.ย. 2021 |

บมจ. ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จับมือ Productivity Plus เปิดตัวโครงการกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง และตรวจวัดด้วยดาวเทียม ลุยพื้นที่นำร่องเกษตรไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิ ตั้งเป้าขยายพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ

Sugar cane.png

ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกิดภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภัยแล้งที่รุนแรง อุทกภัย หรือพายุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างมาก และส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ที่ไม่มั่นคงของเกษตรกรเนื่องจากผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

K Chayanna (2).jpg

ด้วยเหตุนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ซมโปะ ประกันภัย จึงร่วมกับ Productivity Plus หรือบริษัท เพิ่มผลผลิต จำกัด และบริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) ซมโปะ จะใช้ข้อมูลน้ำฝนจากระบบดาวเทียม GSMAP โดยศูนย์ข้อมูลดาวเทียมของ The Remote Sensing Technology Center of Japan (RESTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่น โดยมีเกณฑ์ของการจ่ายค่าชดเชยตามกรมธรรม์ดังนี้

1. ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงสูงกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับภัยแล้ง ถือว่าไม่เกิดภัยแล้ง จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ

2. ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงเท่ากับหรือต่ำกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับภัยแล้ง ให้คำนวณค่าชดเชยโดยใช้อัตราค่าชดเชยในกรณีเกิดภัยแล้ง คูณด้วย จำนวนเงินค่าชดเชยที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเงินจำนวนนี้ถือเป็นค่าชดเชยสำหรับภัยแล้ง แต่จะชดเชยไม่เกินดัชนีฝนแล้งขั้นต่ำ (Exit Point) ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

3. การชดเชยนี้จะยึดตามดัชนีน้ำฝนที่วัดโดย RESTEC โดยไม่มีการประเมินความเสียหายจริงของพืชที่เอาประกันภัย

            “อ้อยเป็นพืชผลที่ได้รับความเสี่ยงจากภัยแล้งอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรไทยที่ปลูกอ้อยมักได้รับความเดือดร้อนจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน Productivity Plus และบริษัท มารูเบนิ ที่มีธุรกิจการเกษตรในเครือ จึงเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ ประกอบกับมีแนวคิดช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเกษตรกรที่ซื้อปุ๋ย จึงร่วมมือกับซมโปะ ประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) 

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และทำให้ธุรกิจเกษตรในเครือสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ผศ.ชญณา กล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซมโปะ ประกันภัย ได้พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่นำข้อมูลน้ำฝนจากระบบดาวเทียมมาใช้ประโยชน์  ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันภัยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตั้งแต่ปี 2553 และประกันภัยสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยตั้งแต่ปี 2562 ดังนั้น ซมโปะ จึงมีประสบการณ์ และสามารถรวบรวบองค์ความรู้ รวมถึงการใช้ความเชี่ยวชาญระดับโลกจาก AgriSompo ในการรับประกันพืชผลทางการเกษตร และบริหารจัดการความเสี่ยง

“เรามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย ผ่านการช่วยเหลือเกษตรกรจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำท่วม ซมโปะ ประกันภัยจึงนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผนวกกับเทคโนโลยี รวมถึงข้อมูลดัชนีน้ำฝนจากศูนย์เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลจากญี่ปุ่น (RESTEC) มาปรับใช้และพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยมีพื้นที่เป้าหมายนำร่องในการรับประกันภัยครั้งนี้ คือ ชาวไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิที่ซื้อปุ๋ยจาก Productivity Plus และในอนาคตจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของไทยตามสโลแกน “ดูแลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่น”

------------------------------------------------

เกี่ยวกับ บมจ. ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย)

บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทฯ ในเครือของ SOMPO HOLDINGS  ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการประกันภัย และโซลูชั่นความเสี่ยงที่เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่นมานานกว่า 132 ปี SOMPO HOLDINGS ให้บริการลูกค้าในกว่า 30 ประเทศในภูมิภาค และเป็นผู้ให้บริการประกันวินาศภัยชั้นนำในเอเชีย